แนวรบด้านศิลปะที่สถานีรถไฟใต้ดินเมืองเคียฟ
ได้เห็นการสู้รบกันบนดินระหว่างรัสเซียกับยูเครนทางทีวีและหนังสือพิมพ์จนทำให้คนในเมืองเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนต้องหลบกระสุนหลบระเบิดลงใต้ดิน อาศัยตามสถานีรถไฟใต้ดินต่างๆ ทำให้หวั่นใจไปทั่วโลก
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมคนเมืองเคียฟต้องหนีลงไปใต้ดินใต้สถานี?
ในเมืองเคียฟนี้มีรถไฟใต้ดินทั้งหมด 3 สายหลัก ในแต่ละสถานีเหล่านี้มีร้านอาหาร ห้องน้ำ ห้างร้านต่างๆอยู่เป็นจำนวนมาก และมีพื้นที่มากพอให้คนเข้าไปหลบภัยได้
ที่สำคัญสถานีแต่ละแห่งสร้างขึ้นอย่างแข็งแรง และลึกเอาการ แต่ละสถานีขุดลึกลงไปใต้ดินราวตึกสูง 27-28 ชั้น
สภาพความเป็นอยู่ของคนเมืองเคียฟในสถานีรถไฟใต้ดินแห่งหนึ่งที่แออัด
ใต้ดินมีแนวรบด้านศิลปะ
ที่มหัศจรรย์พันลึกไปกว่านั้นก็คือทุกสถานีสร้างขึ้นอย่างวิวิศมาหรา สวยสดงดงาม แถมมีผลงานศิลปะแต่ละยุคแต่ละสมัยติดตั้งไว้ ดึงดูใจให้ผู้มาใช้บริการได้ชื่นชม
ในยุคเริ่มแรก ยุคที่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ก่อนปี 2534 การก่อสร้างรถไฟใต้ดินสร้างขึ้นโดยรัสเซีย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะมีการประดับด้วยแชงดิเลียหรือโคมระย้าที่งดงาม
ที่โดดเด่นถูกจัดอันดับว่าเป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่สวยติดอันดับ 1 ใน 10 สถานีรถไฟใต้ดินของโลกนั้นก็คือสถานี"โซโลติ โวโรต้า" (Zoloti Vorota)ในเมืองเคียฟแห่งนี้
สถานี"โซโลติ โวโรต้า"ที่งดงามด้วยโคมระย้า เสาและพื้นหินอ่อน
ส่วนความงามของด้านศิลปะก็อยากเชิญชวนไปเยี่ยมสถานีที่มีชื่อว่า "ลิบิดสก้า" (Lybidska) ที่มีผลงานของนิโคลาย บาร์ทอสสิค(Nikolai Bartossik)ศิลปินระดับศิลปินแห่งชาติของยูเครน ที่ปัจจุบันนี้มีอายุเข้าวัย 71 ปี ได้สร้างผลงานยุค แสงดาวแห่งศรัทธาให้กับยูเครน เพื่อประดับไว้ที่สถานีรถไฟใต้ดินแห่งนี้
ผลงานของ นิโคลาย สร้างขึ้นจากการหล่อทองเหลืองเป็นท่อหลายๆเส้น นำมาเรียงซ้อนกันเหมือนแสงดาวที่กระจายออก ซึ่งแสงนี้ได้จากดาว 3 ดาว ดวงใหญ่จะประดับไว้ที่ตรงกลาง เสริมด้วยดาวดวงเล็กที่อยู่ด้านบนและล่าง ทั้งหมดนี้ติดตั้งขนพื้นหินอ่อนสีครีมสวย สร้างองค์ประกอบผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัวงดงาม
ศิลปะยุคแสงดาวแห่งศรัทธาของนิโคลาย บาร์ทอสสิค
ขณะที่สถานี "พาเลซ "ก็มีผลงานสะท้อนยุคสมัยเดี่ยวกันนี้อีก 3 ชิ้น ผลงานชิ้นแรกเป็นภาพทหารพื้นสีแดงยืนยามถือปืน ด้านข้างนั้นจะมีผลงานร่วมสมัยที่เป็นเครื่องราชของรัสเซีย 2 ชิ้น ที่ทั้ง 2 ชิ้นมีแถบแสงดาวเป็นพื้น ที่ในดวงดาวนั้นบรรจุด้วยฆ้อนเคียวและค้อนกับเครื่องมือการเกษตรของชาวนา ที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการสื่อให้เห็นความสำคัญของกรรมการชาวนาที่จะร่วมกันสรรค์สร้างโลกใหม่(บรรยาฟังดูซ้ายๆดีจัง)
ผลงานแนวแสงดาวและพลังกรรมการชาวนาสร้างโลกก็ยังปรากฎอยู่ที่สถานีชูเลียฟสกา (Shuliavska) ที่แสดงภาพที่ให้ความสำคัญโรงงานอุตสาหกรรมด้านล่าง มีคนงานและนักวิทยาศาสคร์ยืนเด่นคู่กันเพื่อแสดงถึงความสำคัญของคนงานที่มีต่อการผลิต
นอกจากการใช้แสงดาวเชิดชูกรรมกรชาวนาแล้ว ผลงานที่สถานี "สถาบันโปลีเทคนิค" (Politekhnichnyi instytu) ที่เป็นรูปสตรียืนเด่นยืนเดียวในท่วงท่าที่งดงาม พร้อมกันนี้ยังมีคลายๆแสงโค้งเหมือนแสงดาวพุ่งขั้นจากพื้น เป็นวงล้อมเธอไว้อย่างทนุถนอม และทางด้านซ้ายยังมีประกายแสงดาวพุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของสตรี เป็นผลงานที่ดูก็รู้ว่าเน้นให้เห็นความสำคัญของ สตรี ที่จะมามีบทบาทมีส่วนในการเข้ามาสร้างสรรค์โลกใบนี้ด้วย
ผลงานศิลปะที่สถานีชูเลียฟสกา และผลงานที่สถานี "สถาบันโปลีเทคนิค"
ผลงานทั้งหมดที่นำมาให้ได้ดูนี้ จะดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ น่าจะปล่อยให้คนดูตัดสิน
แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะยูเครนได้มีการออกกฎหมายสมัยของประธานาธิบดี เปโตร โปโรเชนโก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ให้รื้อวัตถุ "คอมมิวนิสต์" หรือผลงานที่เราเรียกมาตั้งแต่ต้นว่าผลงาน แสงดาวแห่งศรัทธาทั้งหมด นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์อย่างน่าเสียดาย
โลกศิลปะที่เปลี่ยนไปในสถานีรถไฟใต้ดินเมืองเคียฟ
การปิดประตูสำหรับงานศิลปแนวดาวเดือน-กรรมกรชาวนาของยูเครนครั้งนั้น ได้นำไปสู่การเปิดรับศิลปะแนวสตรีทอาร์ทหรือการก้าวตามศิลปะอเมริกันของเมืองเคียฟอย่างคึกคัก ภาษาศิลปะก็เปลี่ยนท่วงทำนองไป คนยูเครนจะได้ยินเพลงแรปทำนอง ในสถานีรถไฟใต้ดินเรามี....มากขึ้น
ที่โดดเด่นเร้าร้อนจะเป็นโครงการสตรีทอาร์ทยุคแรก มีชื่อว่าโครงการ More than Us ที่จัดและสนับสนุนโดยเมืองเคียฟโดยตรง
โครงการนี้เมืองเคียฟได้เชิญ 8 ศิลปิน 8 ชาติมาสร้างสรรค์ผลงานในแนวสตรีทอาร์ท ที่สถานี โอโสโคร์กี้(Osokorky) ที่จะเปิดใหม่
ผลงานชิ้นแรก ที่แตกต่าง เป็นของศิลปิน คอสตาริกา (Costa Rican) มาทา รูดา(Mata Ruda) สร้างงานบนหลังคาโค้งของสถานี ชื่อเพราะพริ้งว่า เอกราช (Autonomy) เป็นภาพผู้หญิงในชุดประจำชาติของไครเมีย ดินแดนที่ได้ถูกผนวกเข้ากับรัสเซีย เหมือนการส่งสัญญาณเพื่อประท้วง?
ผลงานชิ้นที่ 2 เป็นของศิลปินสเปญ ชื่อผลงานว่า มาตุภูมิ(Motherland) ผลงานชิ้นนี้เป็นรูปหมีใหญ่ที่มือด้านหนึ่งแสดงท่ากำลังตะปบหอควบคุมการบินของเมือง โดเนตสค์ (Donetsk) ซึ่งจากประวัติความเป็นมาของเมืองนี้ ในท้ายที่สุดหอควบคุมแห่งนี้ได้ถูกทำลายลงจากความขัดแย้งในครั้งนั้น ผลงานชื้นนี้จึงเป็นการสื่อถึงผลของความคัดแย้งในครั้งนั้นนั่นเอง
ผลงานชิ้นแรกชื่อเอกราช(ซ้าย) และ ผลงานที่ 2 ชื่อมาตุภูมิ
ผลงานที่ 3 ที่เป็นผลงาน "ไม่มีชื่อ" เป็นผลงานสีขาว-ดำ ของศิลปินสวิส อิสซาม เรซกี(Issam Rezgui) ผลงานชิ้่นนี้ได้อาศัยใบหน้าของรัฐมนตรีวัฒนะธรรมและศิลปะของยูเครนในเวลานั้น แสดงอารมณ์จากการมองผ่านกระจกตึกสูงในเมืองโดเนสตด์(อีกแล้ว) เมืองแห่งความขัดแย้งทางเชื้อชาติ
ผลงานที่ 4 เป็นของศิลปินอเมริกัน BKFoxx ชื่อผลงาน Unfinished (หรือ ยังทำไม่เสร็จ) ศิลปินเมืองแรปท่านนี้ได้ใช้รูปผู้หญิงกำลังปักผ้าๆเป็นองค์ประกอบหลัก และผลงานชิ้นนี้ได้ใช้แผ่นกระเบื้องสี สร้างภาพให้เห็นเป็นผู้หญิงคนนี้กำลังปักผ้าให้เป็นธงชาติยูเครนชาติของเธอเองด้วยสีน้ำเงิน-เหลือง เหมือนศิลปินอเมริกันท่านนี้ต้องการบอกเล่าถึงการสร้างชาติยูเครนของคนยูเครนผ่านผู้หญิงคนนี้ ว่าการสร้างชาติยูเครนยังไม่แล้วเสร็จ
ผลงานชิ้นแรกชื่อเอกราช(ซ้าย) และ ผลงานที่ 2 ชื่อมาตุภูมิ
ผลงานที่ 5 เป็นผลงานของศิลปินท้องถิ่นของยูเครน ที่มีชื่อกลุ่มว่า อเล็กซานเดอร์ บริทเสฟ (Alexander Britsev) ที่สร้างผลงานชื่อ Samotkana ที่ภาษายูเครนแปลว่า ทอเอง ที่เป็นภาพผู้หญิงคนหนึ่งกำลังถักทอไหมพรมเป็นแผ่นที่ของประเทศ
ผลงานที่ 6 เป็นผลงานของศิลปินชาวบราซิล Apollo Torres สร้างสรรค์ผลงานชื่อ ภาษาสากล(Universal Language) เป็นภาพของนักดนตรีกำลังเล่นดนตรีอยู่ด้านหน้าอพาร์ทเม้นท์ ที่มีเด็กผู้หญิงกำลังนั่งเล่นเปียนโนสีธงชาติด้วย และที่เปียโนนั้นได้มีวันเดือนปีเขียนกำกับไว้ด้วยเลข20-02-14
ผลงานชื่อ "ทอเอง" ของกลุ่มศิลปินยูเครนและของศิลปินบราซิลชื่อ "ภาษาสากล"
ผลงานชิ้นนี้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ประท้วงที่เรียกว่าเหตุการประท้วง Maidan หรือการประท้วงที่ central square ในการประท้วงครั้งนั้นจะมีเด็กผู้หญิงยูเครนได้ย้ายเปียนโนมาเล่นบนถนนทุกวันระหว่างที่มีการประท้วงจนกลายมาเป็นสัญญาลักษณ์ของการประท้วงครั้งนั้นไป
ผลงานอันดับที่ 7 เป็นผลงานของศิลปินเบลเยี่ยม แมททิว ดาวส์ (Matthew Down) ได้สร้างผลงานขาว-ดำขึ้นในชื่อ Avdeyevka ที่เป็นชื่อหมู่บ้านในเมืองโดเนตสค์ ที่มีการสู้รบกันระหว่างนักรบยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน(ที่นิยมรัสเซีย) โดยในภาพขาว-ดำได้มีภาพเขียนสีชมพูซ้อนอยู่ด้านหน้า ที่เป็นเจตนาของศิลปินท่านที่ต้องการสื่อถึงความฝันของเด็กในเมืองนี้ ที่ฝันอยากจะเห็นบ้านเมืองเธอเป็นดั่งสีชมพู ที่ดูจะน่าอยู่กว่า
ผลงานอันดับที่ 8 ผลงานชิ้นสุดท้ายที่สร้างสรรค์จากข้อเท็จจริงของการเดินทางไปสู่รบของคนในประเทศนี้ โดยศิลปินเบลเยี่ยมได้สร้างผลงานชื่อKnowledge is a treasure (ที่แปลพอได้ว่า ความรู้เป็นทรัพย์) เป็นภาพของผู้ชายที่เป็นครู ชื่อ โวโลดีเมียร์ ดูลอส(Volodymyr Dolos)ที่มีตัวตนจริง ได้ไปรบ(จริง)ในแนวหน้าที่ด้านตะวันออกของประเทศ ซึ่งในการรบครั้งนั้นเขาได้รับบาดเจ็บต้องนอนรอความช่วยเหลือนานถึง 5 วันกว่าจะมีผู้มาพบและช่วยให้รอดตายกลับมาได้
ผลงานของศิลปินเบลเยี่ยมสื่อความฝันของเด็กและผลงานของศิลปินเบลเยี่ยมเช่นกันของครูโวโลดีเมียร์ ดูลอส
ทั้งหมดนี้คือ 8 สตรีทอาร์ท ที่เหมือนคัมภีร์โลกศิลปะยุคใหม่ของยูเครนที่แตกต่างจากของเดิมมาก แล้วทั้งหมดนี้ยังได้ชี้ให้เราเห็นได้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้นได้มีการรบการปะทะกันอย่างจริงจังในสถานีรถไฟใต้ดินของเมืองมาอย่่างต่อเนื่องยาวนาน ได้ล้างผลาญผลงานศิลปะที่ศิลปินได้สร้างสมไว้ด้วยจิตวิญญาณต้องดับสูญไปอย่างไม่มีวันกลับ.....
ผลงานที่ถูกลบและต้องดับสูญไปชิ้นหนึ่งที่สถานี "พาเลซ "เป็นผลงานที่แสดงถึงเครื่องราชของรัสเซีย